เกมเงียบ

อุปกรณ์

-

จุดประสงค์โดยตรง

  • เพื่อฝึกทักษะการฟัง
  • เพื่อให้เด็กรู้จักความหมายของคำว่า  เงียบ

จุดประสงค์ทางอ้อม

  • เพื่อฝึกการควบคุมตนเอง
  • เพื่อฝึกจิตใจ
  • เพื่อให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างหมู่คณะ

กลไกควบคุมความผิดพลาด

-

คำศัพท์ที่ได้

-

ระดับอายุ

ประมาณ 3 ปี ขึ้นไป หรือเมื่อครูรู้สึกว่าเด็กสามารถทำได้

จุดสำคัญ

เด็กทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกัน "ความเงียบ"

               หมายเหตุ: เมื่อครั้งที่ ดร.มาเรีย ทำงานกับเด็กด้อยโอกาสนั้น มีห้องเรียนห้องหนึ่งที่เป็นเด็กหูตึง ซึ่งเด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาประสาทในการฟังขึ้นได้ถ้าตั้งใจฟังให้ดี  ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ได้ทดลองเล่นเกมเงียบกับเด็กกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก โดยเธอยืนอยู่หลังห้องเรียน แล้วขานชื่อเด็กทีละคน เมื่อเด็กได้ยินชื่อตนเอง เด็กก็จะเดินไปหาเธออย่างเงียบๆ ในครั้งแรกๆ นั้นเธอให้ขนมเด็กเป็นรางวัล แต่แล้วเด็กๆ ก็ได้แสดงให้เธอเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการรางวัลใดๆ เมื่อพวกเขารู้สึกมีความสุข สนุกสนาน และใส่ใจต่อเกมนั้น พวกเขาไม่ได้สนใจขนมที่เป็นรางวัลนั้นเลย

               วันหนึ่ง ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ได้เดินทางไปเยี่ยมห้องเรียนของเด็กปกติซึ่งมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ “บ้านเด็ก” ซึ่งเธอได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงโรม และขณะที่เธอกำลังเดินผ่านสนามหญ้าเธอก็ได้พบและพูดคุยกับหญิงคนหนึ่งซึ่งเพิ่งมีลูกน้อย เธอจึงขออุ้มทารกน้อยคนนั้นและเดินเข้าไปในห้องเรียนเพื่อให้เด็กๆดู  ทารกน้อยคนนั้นสงบนิ่ง ซึ่งทำให้เธอรู้สึกถูกใจมาก เธอจึงอยากให้เด็กๆได้ร่วมรับรู้ความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ “น้องไม่ทำเสียงดังเลย ไม่มีพวกเราคนไหนเลยที่จะเงียบเหมือนน้อง” เธอกล่าวเล่นกับเด็กๆ และคาดว่าเด็กๆ จะหัวเราะชอบใจ  แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กทุกคนเงียบกริบ และตั้งใจคอยฟังสิ่งที่เธอกล่าวต่อไป “ดูสิ น้องหายใจเบามากเลย  ไม่มีพวกเราคนไหนหายใจได้เบาเหมือนน้องเลย” เธอกล่าวต่อ และปรากฏว่าเด็กๆ หยุดเคลื่อนไหวและเกิดความเงียบสนิทขึ้นมาทันทีทันใด เสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ เช่นเสียงเดินของเข็มนาฬิกา ก็สามารถได้ยินได้ในขณะนั้น  “ราวกับว่าทารกน้อยคนนั้นนำบรรยากาศแห่งความเงียบสงบมาสู่ห้องซึ่งไม่เคยมีความเงียบสงบเช่นนี้เลยในทุกๆวัน”

               หลังจากประสบการณ์ครั้งนี้ จึงทำให้ ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ลองใช้เกมเงียบอีกครั้งกับเด็กหูตึง แต่ไม่ได้นำทารกมาร่วมด้วย โดยวิธีการของเธอคือ ยืนอยู่ข้างหลังกลุ่มเด็กๆ หรือยืนอยู่นอกห้อง เพื่อไม่ให้เด็กๆ มองเห็นตัวเธอ แล้วเรียกชื่อเด็กเบาๆ แต่ไม่ถึงขั้นกระซิบ  เด็กๆ ก็จะเดินมาหาเธอทีละคนๆ เมื่อได้ยินชื่อตนเอง และด้วยวิธีการปฏิบัติเช่นนี้เด็กทุกคนก็จะเงียบและไม่ทำเสียงดัง

               เด็กๆ จะชอบเล่นเกมเงียบมาก พวกเขาจะสนใจความเงียบและสนุกกับการตั้งใจคอยฟังเสียงเรียกเบาๆที่ปกติจะไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก

               หากครูจะแนะนำเด็กให้เล่นเกมเงียบ ก็ให้บอกกับเด็กๆ ว่า มาลองดูซิว่าเด็กๆ จะเงียบกันทุกคนได้หรือไม่ และอธิบายว่าก่อนที่จะเล่นเกมนี้ทุกคนต้องเงียบก่อน และเมื่อเด็กทุกคนหยุดพูดคุยแล้ว ครูก็อาจจะกล่าวว่า ครูได้ยินเสียงเท้าขยับ หรือเสียงหายใจดังมาก หรืออื่นๆ เด็กก็จะค่อยๆเข้าใจว่าการเงียบนั้นคือการที่ต้องสงบนิ่งด้วย จากนั้นครูก็เรียกชื่อเด็กให้เดินมาหาครูทีละคนอย่างเงียบๆ และเบาๆ เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดัง สิ่งสำคัญก็คือครูต้องเรียกชื่อเด็กให้ครบทุกคน หากเด็กไม่ได้ยินชื่อตนเองในการเรียกครั้งแรก ก็ให้ครูเรียกชื่อเด็กคนอื่นก่อน แล้วค่อยเรียกชื่อเด็กคนนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเล่นเกมเงียบเสร็จแล้วให้ครูพูดคุยกับเด็กถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินในระหว่างที่เงียบกันนั้น

               และเมื่อเด็กทำกิจกรรมนี้จนเข้าใจดีแล้ว ครูอาจแนะนำ บัตร “เงียบ” ให้กับทั้งชั้นเรียน ซึ่งอาจเป็นป้ายบัตรที่มีภาพสวยๆ และเขียนคำว่า “เงียบ” ไว้ด้านหลังของบัตร แล้วแขวนไว้ที่ใดที่หนึ่งในห้องเรียนที่เด็กๆสามารถเห็นและเอื้อมถึง เพื่อให้เด็กพลิกด้านหลังของบัตรขึ้นมาเมื่อต้องการเล่นเกมเงียบ แล้วจะได้เห็นว่าทั้งห้องเรียนจะเงียบขึ้นมาทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ โดยที่ครูไม่ต้องดึงความสนใจของเด็กคนไหนไปที่บัตรนั้น เพราะเด็กๆมักจะใส่ใจเองอยู่แล้ว สิ่งที่ครูจะต้องทำก็คือขานชื่อเด็กเท่านั้น

               ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ กล่าวว่า เกมเงียบ เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับจิตใจของเด็ก ดังนั้นจึงควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลังจากนั้นแล้วจะทำให้เด็กเกิดความสุข สงบ และผ่อนคลาย